**สิ่งสำคัญก่อนอ่านหน้านี้**
- ก่อนอื่นขอให้ทำความเข้าใจระหว่างยาฆ่าเชื้อ และ ยาแก้อักเสบ ให้ถูกต้องก่อนนะครับ ถ้าหากยังไม่ได้อ่าน ให้ไปอ่านก่อน ที่นี่ ยาฆ่าเชื้อ กับ ยาแก้อักเสบ เหมือนกันหรือไม่? เพราะในบทความนี้จะมีพูดถึงยา NSAIDs ที่อยู่ในหัวข้อเรื่องยาแก้อักเสบ
- คุณหมอแต่ละคนมีมุมมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน
ผมจะเริ่มด้วยการปูพื้นฐานความเข้าใจของไข้หวัด หรือโรคหวัดก่อนนะครับ โดยที่พูดอยู่ตรงนี้จะพูดเฉพาะไข้หวัดธรรมดานะครับ ไม่ได้รวมไปถึงไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ไข้หวัดแมว ไข้หวัดหมูอะไรนะครับ
เชื้อโรค
ภาษาอังกฤษมีเรียกหลายคำ เช่น germs , organism
คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีทั้งที่เป็นเพื่อนมนุษย์เราและไม่ใช่เป็นเพื่อนเรา ไอ้ตัวที่ไม่ใช่เพื่อนเราก็คือตัวที่ทำให้เกิดโรคต่างครับ "เชื้อ+โรค" โดยเราจะแบ่งเชื้อโรคออกไปอีกดังนี้
- เชื้อไวรัส (Virus)
- เชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ภาษาไทยที่ใช้ในตำราเก่าๆ
- เชื้อรา (Fungus)
- เชื้อปรสิต (Parasite)
โดยใน 4 กลุ่มเชื้อโรคนี้ ยาฆ่าเชื้อก็ต้องเลือกให้ถูกกับเชื้อ เช่น
ใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกับโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่นฝีหนอง
ใช้ยาฆ่าเชื้อรากับโรคที่ติดเชื้อรา เช่นฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า
ใช้ยาฆ่าเชื้อไวรัสกับโรคที่ติดเชื้อไวรัส แต่ปัจจุบันจะมีเฉพาะพวกยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นยาควบคุมการจ่าย ยาต้านเชื้อไวรัส HIV ที่ชะลอการดำเนินโรค ยังไม่มียาตัวไหนฆ่าไวรัสได้แบบตายสนิท
เราจะไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อผิดกลุ่มนะครับ เพราะยาข้ามกลุ่ม ไม่สามารถฆ่าเชื้อข้ามกลุ่มได้ ยาฆ่าแบคทีเรียฆ่าเชื้อราไม่ได้ เป็นต้น
ไข้หวัด
ภาษาอังกฤษเรียกว่า Common cold ถ้าศัพท์วิชาการเรียกว่า Acute nasopharyngitis
90% เกิดจากเชื้อไวรัส การรักษาคือจะรักษาตามอาการ
- มีไข้ปวดหัว ให้ยาลดไข้แก้ปวด ก็คือพารา
- มีเสมหะ จะให้ยาช่วยขับเสมหะ เพราะถ้ายังเสมหะตกข้างมาก มันจะทำให้ไอเรื่อยๆ
- มีน้ำมูกหรือคัดจมูกก็จะให้ยาลดน้ำมูก ซึ่งก็คือกลุ่มยาแก้แพ้ มีทั้งแบบง่วงและไม่ง่วง โดยที่แบบไม่ง่วงจะมีราคาแพงกว่า
- อาการเจ็บคอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ อาจจะผสมน้ำผึ้งหรือน้ำมะนาวเพื่อให้ชุ่มคอ
- สำคัญที่สุดคือพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าหักโหมงาน ได้ยาครบแต่ไม่พักผ่อนก็ไม่หายครับ
- ในรายที่ไข้สูงมากๆ คุณหมอบางท่านอาจจะพิจารณาใช้ยา NSAIDs เพื่อลดไข้ให้ แต่ไม่ได้ให้ทุกคน เนื่องจากผลข้างเคียงและอัตราการแพ้ยา
จะเห็นว่ายาฆ่าเชื้อไม่ใช่เป็นยาหลักๆในการรักษาไข้หวัดเลย (เวลาที่เราพูดถึงยาฆ่าเชื้อเราจะหมายถึงยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียซะส่วนใหญ่ครับ) เพราะ 90% เกิดจากเชื้อไวรัส ยาฆ่าเชื้อ ฆ่าไวรัสไม่ได้ กินไปเสียฟรี ดีไม่ดีแพ้ยาอีก เพราะฉะนั้นใครที่ยังมีความคิดว่า "เป็นหวัดต้องได้ยาฆ่าเชื้อ" คิดใหม่นะครับ
แล้วมันมีไหมที่เป็นหวัดแล้วต้องกินยาฆ่าเชื้อ?
มีครับ แต่เป็นส่วนน้อย คือ
- กรณีคออักเสบมากแดงมาก หรือทอนซิลอักเสบมากจนเป็นหนอง (มีรูปให้ดูครับ)
- คุณหมอตรวจดูแนวโน้มว่าน่าจะเกิดแบคทีเรียติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นมา และให้ยาฆ่าเชื้อรักษาไปเลย แต่ยังไงก็ตาม แบคทีเรีย ยังคงเป็นส่วนน้อยอยู่ดีที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด
คออักเสบ แดงมาก บ่งบอกว่าน่าจะเกิดจากแบคทีเรีย |
ทอนซิลอักเสบ จนเป็นหนอง (ปื้นๆสีขาวๆ) บ่งบอกว่าเกิดจากแบคทีเรีย |
แล้วที่ว่าเป็นไข้หวัดแล้วไปฉีดยา มันหายเร็วขึ้นล่ะ?
จะมียาที่ใช้กันค่อนข้างเป็นที่นิยมคือผสมระหว่าง lincomycin ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กับ dexamethazone ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ ไอ้ที่รู้สึกว่าหายเร็วก็เพราะสเตียรอยด์นี่ล่ะครับ สเตียรอยด์มันออกฤทธิ์กดการอักเสบทุกชนิด รวมถึงกดภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย **(โดยปกติภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าร่างกาย แต่ถ้ามีเชื้อโรคมามันจะทำลายเชื้อโรคพวกนี้โดยปฏิกิริยาที่มันทำลายเชื้อโรค ก่อให้เกิดการอักเสบตามมา)** แต่ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ มันเพียงแค่เหยียบอาการบังเอาไว้เฉยๆ แล้วตัวสเตียรอยด์เอง ส่งผลเสียต่อทุกระบบ
แล้ว lincomycin ที่เป็นยาฆ่าเชื้อที่ฉีดเข้าไปล่ะ? ยังจำได้ใช่มั้ยครับว่า ไข้หวัด 90% เกิดจากเชื้อไวรัส ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทำอะไรมันไม่ได้อยู่แล้ว
คุณหมอหลายท่านรวมถึงผมด้วย จะไม่เห็นด้วยกับการฉีดยารักษาไข้หวัด เพราะเหตุผลดังกล่าวนี้ครับ เพราะฉะนั้นอยากจะเชิญชวนให้เปลี่ยนความเข้าใจเรื่องไข้หวัดเสียใหม่ ไม่เรียกร้องขอยาฆ่าเชื้อมากเกินไปนะครับ ถ้าเกิดขอแล้วคุณหมอเขาไม่ให้ ก็ขอให้เข้าใจว่าคุณหมอเขาหวังดีต่อคุณนะครับ เหตุผลก็ตามที่ได้อ่านหน้านี้มาทั้งหน้าล่ะครับ
สรุป
1. ไข้หวัด 90% เกิดจากเชื้อไวรัส การรักษาคือรักษาตามอาการ
2. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียจะเก็บไว้ใช้กรณีที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุเท่านั้น
3. ไม่มีการฉีดยารักษาไข้หวัด
No comments:
Post a Comment